ปัญหาผมร่วงเป็นความกังวลที่หลายคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ การสูญเสียเส้นผมมากกว่าปกติอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพ แต่ก่อนที่คุณจะตื่นตระหนกเกินเหตุ มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงและวิธีแก้ไขอย่างทันท่วงทีกันดีกว่า บทความนี้ Welida Health จะพาคุณสำรวจ 10 สาเหตุหลักของการผมร่วงเยอะผิดปกติ พร้อมนำเสนอวิธีแก้ไขแบบเร่งด่วนที่คุณสามารถเริ่มทำได้ทันที เพื่อช่วยชะลอการร่วงของเส้นผมและฟื้นฟูสุขภาพเส้นผมของคุณให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
1. ผลข้างเคียงของตัวยาบางชนิด
ผลข้างเคียงจากส่วนผสมของยาบางชนิดที่คุณใช้อยู่อาจเป็นสาเหตุหลักของปัญหาผมร่วง ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาเจือจางเลือด(blood thinner), ยารักษาสิวที่ผสมเรตินอล(Tretinoin)ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอที่สูง, สารสเตยีรอยด์เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ(Anabolic steroids) หรือ ยาสําหรับรักษาโรคข้ออักเสบ, ยาต้านภาวะซึมเศร้า และ ยารักษาโรคเกาต์ ส่วนผสมของยาที่ทำลายเม็ดเลือดเหล่านี้มักมีโครงสร้างทางเคมีที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ใช้ผมร่วงหนักได้
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: ปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาให้ทันที โดยอธิบายอาการผมร่วงที่เกิดขึ้น แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยา เปลี่ยนชนิดยา หรือหาทางเลือกอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ดี อย่าหยุดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายได้
2. ภาวะหลังคลอด
เมื่อคุณตั้งครรภ์ฮอร์โมนของเพศหญิงจะมีกระบวนการป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม ทำให้คุณแม่ที่ตั้งท้องมักมีเส้นผมที่แน่นหนาและดำเข้มกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ หากแต่หลังจากที่คลอดลูก อาการผมร่วงย่อมเกิดขึ้นในทันทีเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงลดลง
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: ให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และอย่ากังวลมากเกินไป เพราะอาการนี้มักดีขึ้นเองภายใน 6-12 เดือนหลังคลอด
3. ร่างกายมีระดับธาตุเหล็กที่ต่ำลง
ธาตุเหล็กในร่างกายเป็นส่วนช่วยให้เส้นผมมีความแข็งแรง หากแต่เมื่อร่างกายมีระดับธาตุเหล็กที่ลดลงในระดับที่ต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการ สิ่งที่ตามมาคืออาการผมร่วงนั่นเอง
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: เพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงในมื้อประจำวัน เช่น เนื้อแดง ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม ถั่ว และธัญพืช ทานคู่กับอาหารที่มีวิตามินซีเพื่อช่วยการดูดซึม หากจำเป็นให้ ปรึกษานักโภชนาการเรื่องการทานอาหารที่เสริมธาตุเหล็กได้สูงอย่างมีแบบแผน
4. เกิดภาวะความเครียด
เมื่อร่างกายเผชิญกับภาวะความเครียดในระดับสูง ย่อมทําให้กลไกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณตื่นตัวขึ้นกลายเป็นกลไกที่กีดขวางการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น เส้นผม ดังนั้น ความเครียดจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นผมเปราะบางและหลุดร่วงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: หาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกหายใจลึกๆ ทำสมาธิ โยคะ หรือหางานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากรู้สึกว่าจัดการความเครียดด้วยตัวเองไม่ไหว
5. อาการหลังเข้ารับการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดคุณอาจประสบปัญหาผมร่วงได้ เนื่องจากระดับสังกะสีในร่างกายที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี อาการผมร่วงถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเหล่าผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดนี้ สังเกตได้ว่าแพทย์มักแนะนำให้คุณรับประทานอาหารเสริมสังกะสีและทองแดงเพื่อช่วยหยุดการผมร่วงและฟื้นฟูสุขภาพเส้นผมเสมอ
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: ทานอาหารเสริมสังกะสีและทองแดงตามที่แพทย์แนะนำ ร่วมกับการกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว และติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
6. ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ
หากร่างกายมีระดับโปรตีนต่ำ ร่างกายจะพยายามรักษาระดับโปรตีนที่คงอยู่ในร่างกายอัตโนมัติ ซึ่งคือการหยุดการเจริญเติบโตของเส้นผมที่ใช้โปรตีนในการเจริญเติบโต ส่งผลให้เส้นผมเก่าของร่างกายจะเริ่มหลุดร่วง
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: การเพิ่มปริมาณโปรตีนในมื้ออาหารจะช่วยให้ร่างกายมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเส้นผมและลดปัญหาผมร่วงได้ เช่น การเพิ่มการรับประทานอาหารในหมู่ เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ถั่ว เมล็ดพืช และถั่ว เป็นต้น หรือในกรณีที่กินเนื้อสัตว์ไม่ได้ ให้ผสมผสานโปรตีนจากพืชหลายชนิดเพื่อให้ได้กรดอะมิโนครบถ้วน
7. มีการใช้ยาคุมกำเนิด
การใช้วิธีคุมกำเนิดโดยการคุมกำเนิดชั่วคราว(ชนิดแบบฮอร์โมน) เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้เกิดผมร่วงได้ เนื่องจากฤทธิ์สารปรับฮอร์โมนที่มีอยู่ในยาคุมกำเนิด ทั้งยาชนิดรับประทาน การฝังยาคุมกำเนิด การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ล้วนสามารถมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนภายในร่างกายได้ โดยเมื่อฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลดลง เส้นผมย่อมหลุดร่วงออกนั่นเอง
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: วิธีแก้ไขที่เร่งด่วนสำหรับผมร่วงที่เกิดจากการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนอาจจะอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดหรือการตรวจสอบกับแพทย์เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีฮอร์โมน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย หรือการทำหมันถ้าไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือใช้ตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกับคุณอาจช่วยลดการร่วงของเส้นผมได้
8. การสูบบุหรี่และควันบุหรี่
การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรง และยังส่งผลเสียต่อเส้นผมอีกด้วย จากการที่บุหรี่มีสารที่ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายนั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และสารพิษในควันบุหรี่จะเข้าไปทำลายผนังเส้นเลือดและรบกวนการไหลเวียนของเลือด ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทั้งกลุ่มควันบุหรี่ยังทำให้รูขุมขนเกิดการขยายตัวซึ่งทำให้ผมเกิดอาการหลุดร่วง และเกิดกลไกการป้องกันไม่ให้ผมงอกเส้นใหม่บนหัวอีกด้วย
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: วางแผนเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง อาจใช้วิธีค่อยๆ ลด หรือเลิกทันที ขอความช่วยเหลือจากสายด่วนเลิกบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ เพื่อลดการได้รับควันบุหรี่มือสอง
9. ใช้ความร้อนและสารเคมีบ่อยครั้ง
การใช้อุปกรณ์ทำความร้อนกับเส้นผม เช่น ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม และเครื่องดัดผมทุกวัน จะทำให้ผมแห้งเสีย ส่งผลให้ปลายผมแตก อ่อนแอ และหลุดร่วงง่าย นอกจากนี้ การใช้สารเคมีบำรุงผมที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารฟอกขาว สีย้อมผม และสเปรย์ฉีดผม ก็เป็นอันตรายต่อเส้นผมเช่นกัน แม้การจัดแต่งทรงผมบางครั้งอาจจำเป็น แต่หากทำบ่อยเกินไปก็อาจทำให้ผมเสีย พฤติกรรมที่ควรระวัง ได้แก่ การใช้แชมพูมากเกินไป การแปรงหรือหวีผมขณะเปียก การถูผมแรงๆ ด้วยผ้าขนหนู และการแปรงผมแรงหรือบ่อยเกินไป ซึ่งทำให้เส้นผมตึงและเสียหายได้ อีกทั้งการทำผมเปียที่รัดแน่นเกินไป และการต่อผมที่เพิ่มน้ำหนักให้เส้นผม ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เส้นผมร่วงได้เช่นเดียวกัน
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: ลดการใช้อุปกรณ์ทำความร้อนกับผม หากจำเป็นต้องใช้ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันความร้อนก่อนเสมอ เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง หลีกเลี่ยงการย้อมผมบ่อยๆ และให้ผมได้พักจากการจัดแต่งทรงบ้าง
10. กําลังผ่านวัยหมดประจําเดือน
ในช่วงวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผมร่วงมากขึ้น อาการนี้มักจะดีขึ้นเองหลังจากผ่านไปประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม หากคุณสังเกตเห็นว่าเส้นผมบางลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณด้านบนศีรษะหรือกลางศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะผมร่วงในผู้หญิง ซึ่งสามารถรักษาได้
วิธีแก้ไขเร่งด่วน: ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนและรับการรักษาที่เหมาะสม หรืออาจพิจารณาการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้สูงอายุร่วมด้วย ดูแลสุขภาพโดยรวม ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ