สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนเข้ารับการปรึกษาอาการทางจิตประเภท คือการที่คุณทราบว่าควรรักษาด้วยวิธีการใด และรักษากับใครจึงจะเหมาะสมที่สุด ทำให้ในวันนี้ Welida Health สถานบริการด้าน Wellness Center อยากจะชวนมาทำความรู้จัก และทราบความต่างของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแต่ละประเภท เพื่อทำให้คุณตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนได้ว่าระหว่าง จิตแพทย์ นักจิตบำบัด และ นักจิตวิทยา ซึ่งหลังจากอ่านบทความนี้ คุณอาจได้คำตอบว่าควรพบเจอใครมากที่สุด
จิตแพทย์ คือใคร?
จิตแพทย์ (Psychiatrist) คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ที่คัดแยกผู้ป่วยทั่วไปที่ป่วยด้วยโรคต่างๆ ออกจากผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยวิธีการจิตบำบัด โดยจิตแพทย์มักใช้วิธีการรักษาด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตบำบัดและการวินิจฉัยอาการทางจิตทดแทนการรักษาทางกายภาพทั่วไป ทั้งนี้ การรักษาอาการจิตบำบัดสามารถทำได้ในระดับบุคคล กลุ่มเพื่อน คู่รัก และครอบครัว ก็ย่อมได้
สำหรับวุฒิการศึกษาของผู้เป็นจิตแพทย์นั้นจำเป็นจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาแพทย์ศาสตร์หลักสูตรปกติ 6 ปี แล้วจึงต่อสาขาเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยของรัฐให้การรับรอง เท่านั้น ทำให้คุณมั่นใจได้ว่าหากเลือกรับการรักษากับจิตแพทย์ที่มักอยู่ในสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน เมื่อเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์แล้วมั่นใจได้ว่าคุณจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการรักษาตามการแพทย์แผนปัจจุบันแน่นอน
หน้าที่ของจิตแพทย์
จิตแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่เข้ามารับการรักษา ทั้งกลุ่มผู้มีอาการทางจิตที่ผิดปกติชัดเจน เช่น อาการหูแว่ว หวาดระแวง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หรือกลุ่มผู้มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าท้อแท้ จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต ขณะที่บางคน อาจมีภาวะเครียด นอนไม่หลับ หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตบางอย่าง
จิตแพทย์จะช่วยเสนอแผนการรักษาและจ่ายยาให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถเอาชนะภาวะความเครียด ปัญหาทางอารมณ์และรักษาความสัมพันธ์ หรือลดพฤติกรรมทางจิตที่อาจสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ป่วยและคนรอบข้างของผู้ป่วยได้
การทำงานของจิตแพทย์จึงเริ่มต้นจากกระบวนการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและการตรวจสภาพจิตเบื้องต้น(Mental Status Examination) ซึ่งเป็นกระบวนการประเมินและวินิจฉัยอาการที่สำคัญที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งอาการผิดปกติทางจิตใจที่ปรากฏ ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกายที่ยังตรวจไม่พบได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับโรคทางระบบต่างๆโดยเฉพาะระบบประสาทของจิตแพทย์ผู้ทำการรักษาจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน
ในส่วนของกระบวนการรักษาด้วยจิตแพทย์ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ การรักษาด้วยการให้ยา เนื่องจากจิตแพทย์มีอำนาจในการสั่งจ่ายยาที่แตกต่างจากนักจิตบำบัด และการทำการรักษาด้วยเทคนิคจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเป็นจิตแพทย์ คือ กระบวนการพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงตัวตน ปัญหาและที่มา ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหนทางที่ผู้ป่วยต้องการ
โดยแนวทางการบำบัดรักษาด้านจิตเวชศาสตร์ด้วยจิตวิเคราะห์หรือวิธีการบำบัดโดยจิตแพทย์ สามารถแบ่งวิธีรักษาได้หลายประเภท ได้แก่
- การบำบัดด้วยพฤติกรรมบำบัด
- การบำบัดด้วยการจ่ายยาทางการแพทย์
- การบำบัดจิตโดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์
- การบำบัดด้วยจิตวิเคราะห์พลวัต
- การบำบัดด้วยครอบครัวบำบัด
- การบำบัดด้วยศิลปะบำบัด
- การบำบัดด้วยจิตวิเคราะห์เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการ
- การบำบัดด้วยศาสตร์การสะกดจิต เป็นต้น
นักจิตบำบัดคือใคร ?
นักจิตบำบัด (Psychotherapist) คือ ผู้ที่ใช้เทคนิคการบำบัดจิตใจด้วยวิธีการพูดคุยทั่วไปเป็นหลัก เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีกลไกจัดการกับความสงบทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น หรือ สามารถเยียวยาความกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือภาวะจิตสังคมระยะเฉียบพลัน(Acute Phase) เบื้องต้นได้อย่างทันถ้วงที นักจิตบำบัดเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรักษาความเครียดในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการให้คำปรึกษาความผิดปกติทางจิตบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล เป็นต้น
ในบางครั้งการบำบัดด้วยการพูดคุยของนักจิตบำบัดจะใช้วิธีให้คำปรึกษาร่วมกับการใช้ยาหรือการวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้เข้ารับการรึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักจิตบำบัดทุกคนจะได้รับใบอนุญาตให้จ่ายยาได้ นักจิตบำบัดจึงมักต้องทำงานร่วมกับจิตแพทย์ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาร่วมกัน
หน้าที่ของนักจิตบำบัด
นักจิตบำบัดใช้การบำบัดด้วยการพูดคุยทั่วไปเป็นหลัก เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจ สามารถใช้ชีวิตและมีสุขภาพดีขึ้นได้ ทั้งในทางวิทยาศาสตร์นักจิตบำบัดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรักษาภาวะอารมณ์และแก้ไขพฤติกรรมบางประเภทได้ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกแก่ร่างกายและสมองผู้เข้ารับการรักษา
เทคนิคของนักจิตบำบัดที่ใช้ในการพูดคุย ได้แก่
- เสนอวิธีแก้ปัญหาของคุณ
- เข้าร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหา
- ช่วยให้คุณเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังเผชิญ
- วิเคราะห์การสนทนาของคุณ
- ช่วยให้คุณเปลี่ยนการกระทำของคุณ
นักจิตวิทยาคือใคร ?
โดยทั่วไปแล้วศาสตร์จิตวิทยาของนักจิตวิทยา (Psychologist) คือ การศึกษาเกี่ยวกับผู้คนว่า ผู้คนกำลังมีความคิดอย่างไร? กำลังทำอะไร? และมักตอบสนองต่อสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างไร? นั่นทำให้นักจิตวิทยาจะทำงานในหมวดหมู่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ที่ซับซ้อน ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้เข้ารับการรักษา
สำหรับผู้จบการศึกษาเฉพาะด้านจิตวิทยา มักถูกจัดอยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) การเรียนและการศึกษาจึงมุ่งเน้นไปที่การใช้วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาหลักการทำงานปกติของจิตใจเป็นสำคัญ ร่วมกับการเจาะลึกพื้นที่ต่าง ๆ ภายในจิตใจมนุษย์ เช่น การวิเคราะห์ทักษะการเรียนรู้ การจดจำ และพัฒนาการทางจิตวิทยาในวัยเด็ก ในปัจจุบันจิตวิทยาเป็นหนึ่งในวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในสายวิทยาศาสตร์
หน้าที่ของนักจิตวิทยา
นักจิตวิทยาสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตในระดับที่ซับซ้อนได้มากกว่านักจิตบำบัดทั่วไป ทั้งจัดทำการบำบัดแบบตัวต่อตัว (Individual) และแบบกลุ่ม (Group) นิติเวช หรือจิตวิทยาสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยที่กำลังฟื้นฟูจากการอาการทางจิตหรือผู้ป่วยอาการติดสารเสพติด และนักจิตวิทยามักเป็นผู้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางจิตวิทยา เช่น H-T-P, แบบทดสอบ Rorschach blot เป็นต้น ทำหน้าที่กำหนดแผนการรักษาร่วมมือกับทีมงานสหวิชาชีพ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมรวมถึงผู้เชี่ยวชาญดานการฟื้นฟูและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี นักจิตวิทยาไม่ถือเป็นผู้มีคุณวุฒิทางการแพทย์ เนื่องจากวุฒิการศึกษาที่เป็นเพียงวิทยาศาสตรบัณฑิต แตกต่างกับจิตแพทย์ และ นักจิตบำบัดที่มีวุฒิทางการแพทย์และสภารับรอง